กล้วย ผลไม้ไทยมากคุณค่า ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

กล้วย

กล้วย (Banana) ผลไม้มากคุณค่าที่คุ้นเคยกันดี เพราะหารับประทานได้ง่ายและยังเชื่อว่าเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยในกล้วยนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญต่อร่างกายหลากหลายชนิด ได้แก่ วิตามินบี 6 วิตามินซี แมงกานีส โพแทสเซียม และเส้นใยอาหาร ประโยชน์ของกล้วย ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าอาจช่วยในการย่อยอาหาร ให้พลังงาน ดีต่อลำไส้ เพิ่มการเผาผลาญ และอีกสารพัด กล้วย1ลูกกี่แคล กล้วย 1 ผล ให้พลังงานได้ราวๆ 100 แคลอรี่ และยังมีน้ำตาลจากธรรมชาติอยู่ถึง 3 ชนิดทั้งซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย แถมยังอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุนานาชนิด ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน นอกจากนี้ยังมีเส้นใย และกากอาหาร กล้วยจึงไม่ใช่เพียงแค่ผลไม้ที่เพิ่มพลังงานเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติช่วยเอาชนะ และป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดกับร่างกายได้อีกหลายโรค

สายพันธุ์ของกล้วย

กล้วย ผลไม้ที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้น ใบ ดอก หน่อ และผล จนถึงราก กล้วย ประโยชน์ ใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค กล้วยมีกี่ชนิด กล้วยมีหลากหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์กล้วย ที่นิยมบริโภคและจำหน่ายกันทั่วประเทศ ได้แก่

กล้วยหอม

กล้วยหอม หรือ กล้วยหอมทอง เป็นชื่อท้องถิ่นที่ถูกเรียกโดยทั่วไป มีชื่อสามัญคือ Gros Michel และชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ มีผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง เนื้อในสีส้มอ่อน รสหวาน มีกลิ่นหอม สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมทอง กล้วยหอมค่อม และกล้วยหอมแกรนด์เนน มีผลวิจัยพบว่า กล้วยหอมทองมีโปรตีนสูง ช่วยให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง มีแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก สรรพคุณมากมาย รักษาอาการโลหิตจาง นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง บำรุงประสาท ปรับอารมณ์ ลดความตึงเครียด ช่วยให้ร่างกายสดชื่น สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าและบรรเทาอาการปวดต่างๆ

กล้วยนาก

กล้วยนาก เป็นกล้วยโบราณหายาก มีความแตกต่างจากกล้วยชนิดอื่น ด้วยผลที่มีสีแดงเหมือนกับสีของนาก ทำให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีชื่อท้องถิ่นว่า กล้วยกุ้ง กล้วยกุ้งเขียว กล้วยแดง กล้วยครั่ง และกล้วยน้ำครั่ง เป็นกล้วยที่พบทางภาคใต้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AAA) ‘Nak’ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ก้านผลสั้น เนื้อสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานอมเปรี้ยวและกลิ่นหอมเย็น เนื้อนิ่มละเอียด และไม่มีเมล็ด บางตำรากล่าวว่า กล้วยนากมีสารแอนติออกซิแดนต์สูง นิยมนำมารับประทานสดเมื่อผลสุก ส่วนผลดิบใช้ทอดหรือฉาบน้ำตาลเพื่อบริโภคหรือขาย นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการประกอบเครื่องบูชาเทวดาและในงานพิธีมงคลต่างๆ

กล้วยน้ำไท

กล้วยน้ำไท หรือกล้วยหอมเล็ก เป็นกล้วยท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันพบได้ยาก มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AAB) ‘Nam Thai’ มีลักษณะของผลคล้ายกล้วยหอมจันทร์ แต่โค้งงอกว่า เป็นเหลี่ยม เปลือกหนา ปลายผลมีจุกและมักมีก้านเกสรตัวเมียติด เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้มและมีจุดดำเล็กๆคล้ายกล้วยไข่ เนื้อสีเหลืองอมส้ม กลิ่นรสหวานหอม ไม่มีเมล็ด นิยมกินผลสด ถ้านำไปเชื่อมหรือผ่านความร้อนจะมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาดี สามารถนำมาดองกับน้ำผึ้งใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แต่เดิมเป็นกล้วยที่ใช้โดยทั่วไปในพิธีกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันหายาก จึงเปลี่ยนมาใช้กล้วยน้ำว้าแทน

กล้วยเล็บมือนาง

กล้วยเล็บมือนาง มีชื่อเรียกโดยทั่วไปคือ กล้วยข้าว กล้วยเล็บมือ กล้วยทองดอกหมาก และกล้วยหมาก ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AA) ‘Lep Mue Nang’ เป็นกล้วยประจำท้องถิ่นของภาคใต้ ปัจจุบันนำมาปลูกกันทั่วทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง กล้วยเล็บมือนางมีผลเล็ก ปลายเรียวยาวและโค้ง ก้านผลสั้น เปลือกหนา เมื่อสุกสีเหลืองทองและมีก้านเกสรเพศเมียติดที่ปลายผล เนื้อด้านในมีสีเหลืองหรือสีครีม เนื้อนุ่ม รับประทานง่ายเพราะผลมีขนาดเรียวเล็ก กลิ่นรสหวานหอม ผลดิบมีรสมัน ไม่ฝาด นิยมนำมาปรุงอาหารปักษ์ใต้ ไม่นิยมนำมาแปรรูปเหมือนกล้วยชนิดอื่นเพราะขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีฟอสฟอรัสมากที่สุด ช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรง

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า มีชื่อสามัญหรือชื่อเรียกท้องถิ่นว่า กล้วยใต้ กล้วยตานีอ่อง กล้วยมะลิอ่อง หรือกล้วยอ่อง (Pisang Awak) และมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (ABB) ‘Nam Wa’มีเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกผลหนา เมื่อผลสุกมีสีเหลือง เนื้อสีขาวนวล รสหวาน ไส้กลางสีเหลือง ชมพู หรือขาว มีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กล้วยน้ำว้าค่อม กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง และกล้วยน้ำว้าจันทร์ ให้คุณประโยชน์มากมาย มีธาตุเหล็กสูงที่สุด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ยอดเยี่ยม เป็นยาอายุวัฒนะ สามารถทานเพื่อลดน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีสารฮิสโตแฟนที่เป็นสารตั้งต้นฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน หลั่งสารแห่งความสุข ช่วยให้หลับสบาย คลายความเครียด ทั้งยังมีแคลเซียมสูง ช่วยป้องกันฟันผุ

 

กล้วยไข่

กล้วยไข่ มีชื่อท้องถิ่นว่า กล้วยกระ และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa (AA) ‘Khai’ มีลักษณะคือ ผลค่อนข้างเล็ก ก้านผลสั้น มีเปลือกบาง เมื่อสุกเปลือกและเนื้อมีสีเหลืองสด มีจุดกระสีดำที่เปลือก มีรสชาติหวาน กล้วยไข่มี 2 สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก คือ กล้วยไข่กำแพงเพชร และกล้วยไข่ทองเงย มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านมะเร็งได้อย่างวิเศษ เมื่อสุกช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาระบาย ผลดิบใช้ชงน้ำร้อนหรือบดเป็นผงรับประทาน ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องเสียเรื้อรัง มีรสฝาด

ประโยชน์ของการทานกล้วย

ลดระดับคอเลสเตอรอล

เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารอย่างพอเหมาะ จึงทำให้กล้วยมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

ผลไม้ของคนอยากลดน้ำหนัก

กล้วย เป็นอาหารที่รับประทานแล้วอิ่มเร็ว อยู่ท้อง และให้พลังงานกับร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม กล้วยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาล และยังไม่มีรายงานวิจัยไหนยืนยันว่าช่วยลดน้ำหนักได้ จึงควรบริโภคอย่างพอเหมาะ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย

ควบคุมระดับความดันโลหิต

สารโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลงตามไปด้วย

ลดอาการท้องเสีย

เส้นใยอาหารที่ย่อยง่ายของกล้วย ช่วยลดอาการท้องเสียได้ เพราะกล้วยมีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นแหล่งอาหารของเหล่าจุลินทรีย์โปรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่พบในลำไส้ ช่วยลดอาการท้องเสีย ที่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดได้ด้วย

แก้อาการท้องอืด

คาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ที่อยู่ในกล้วย ที่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของจุลินทรีย์โปรไบโอติกในลำไส้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงอาการท้องเสียแล้ว ยังรวมถึงปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกด้วย

ดีต่อสุขภาพคนโลหิตจาง

กล้วย มีธาตุเหล็กที่ดีต่อสุขภาพของคนที่มีอาการโลหิตจาง เพราะการเพิ่มธาตุเหล็กในร่างกายจะช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ากล้วยจะช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้แต่อย่างใด

ข้อควรระวังในการทานกล้วย

กล้วย เป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน เพราะมีน้ำตาลที่ร่างกายสามารถดึงพลังงานไปใช้ได้ในทันที เพราะกับการกินเพื่อให้พลังงานในการออกกำลังกาย ดังนั้นหากคิดจะกินกล้วยเพื่อการลดน้ำหนัก ควรควบคู่ไปด้วยกันกับการออกกำลังกายด้วย หากกินมากไป อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป และอาจอ้วนได้ นอกจากนี้ โทษของกล้วยดิบ ควรหลีกเลี่ยงการกินกล้วยดิบ เพราะกล้วยดิบจะมีแป้งมาก ย่อยยาก ทำให้ท้องอืด และท้องผูก เพราะเส้นใยอาหาร (เพคติน) ในกล้วยที่อาจไปดูดซึมน้ำในลำไส้ เมื่อลำไส้ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงกากอาหาร อุจจาระจึงแข็งตัวจนเกิดอาการท้องผูก กล้วย ไม่ใช่อาหารเพื่อรักษาโรค ควรกินอย่างพอเหมาะในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ป่วยเบาหวานและโรคประจำตัวอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมในการกิน

6 เมนูแปรรูปจากกล้วย ทำง่ายอร่อยด้วย

กล้วย เป็นผลไม้ที่ออกตลอดทั้งปี จึงเป็นผลไม้ที่หากิน และหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังมีหลายชนิด ซึ่งในบางครั้งที่คุณซื้อกล้วยมายกหวี แล้วกินไม่ทัน กล้วยก็จะดำ และเสียจนกินไม่ได้ กล้วยสุก ทําอะไรได้บ้าง ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาแนะนำ 6  ผลิตภัณฑ์จากกล้วย ทำง่าย อร่อยด้วย ที่เพื่อให้คุณสามารถนำกล้วยที่กินไม่ทัน หรือเบื่อกับการกินกล้วยแบบเดิม ๆ มาแปรรูปเป็นขนม เมนูกล้วย ที่แสนอร่อย ว่าแต่จะมี ขนมที่ทำจากกล้วย อะไรบ้าง ไปชมพร้อมกันเลยค่ะ

กล้วย

กล้วยบวชชี

วัตถุดิบ

  1. กล้วยน้ำว้าห่าม 10 ลูก
  2. หัวกะทิ 2 ถ้วย
  3. หางกะทิ 4 ถ้วย
  4. น้ำตาลปึก 1 ถ้วย
  5. เกลือป่น 1 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. นำมีดกรีดเปลือกกล้วยตามแนวยาว แล้วนำน้ำใส่หม้อต้มจนเดือด เมื่อน้ำเดือดแล้วใส่กล้วยลงต้มทั้งเปลือกประมาณ 15-20 นาที พอเปลือกกล้วยแตก ตักขึ้นพักไว้ให้เย็น
  2. ปอกเปลือกกล้วย ตัดกล้วยเป็น 4 ชิ้น พักไว้ หลังจากนั้นนำหางกะทิใส่หม้อ ใส่น้ำตาลปึก และเกลือป่น ตั้งไฟอ่อน ๆ จนน้ำตาลละลาย
  3. ใส่กล้วยลงไปในหม้อ คนไปเรื่อย ๆ ระวังอย่าให้กะทิไหม้ พอเดือดก็เติมหัวกะทิ และยกลงจากเตาทันที ก็จะได้เป็นกล้วยบบวชชีพร้อมเสิร์ฟ

กล้วยปิ้งราดน้ำกะทิ

วัตถุดิบ

  1. กล้วยน้ำว้า ไม่สุกเกินไป 1 หวี
  2. น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 ถ้วย
  3. กะทิ 1 ถ้วย
  4. เกลือ 1 หยิบมือ
  5. เนยสด 2 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. หั่นกล้วยเป็นแว่น ๆ เสียบไม้ไว้สำหรับปิ้ง
  2. เตรียมเตาถ่านสำหรับปิ้ง วิธีนี้จะหอมกว่าใช้วิธีอื่น หรือถ้าเอาสะดวกก็ใช้เตาแก๊ส วางตะแกรงปิ้งไว้บนไฟอ่อน ๆ แล้วนำกล้วยที่เสียบไม้ไว้ปิ้ง
  3. ทำน้ำราด โดยนำน้ำตาลปี๊บกับน้ำกะทิ 1 ส่วนมาเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย แล้วเติมเนยสดลงไปเคี่ยวให้เข้ากัน และใส่กะทิส่วนที่เหลือลงไปเคี่ยวต่อ เมื่อเคี่ยวเสร็จแล้วนำลงมาพักไว้ให้เย็น
  4. เมื่อกล้วยเริ่มสุกดีแล้ว นำลงมาทับให้แบนด้วยไม้คลึงแป้ง หากไม่มีก็อาจจะใช้มีดปังตอทับให้กล้วยแบน จัดใส่จานแล้วราดน้ำกะทิให้ชุ่มหรือตักแยกไว้จิ้มก็ได้เช่นกัน
กล้วย
กล้วย

เค้กกล้วยหอมนึ่ง

วัตถุดิบ

  1. กล้วยหอมสุกบด 2 ลูก
  2. แป้งเค้ก 200 กรัม
  3. ผงฟู 1 1/2 ช้อนชา
  4. เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา
  5. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
  6. ไข่ไก่ 2 ฟอง
  7. น้ำตาลทราย 165 กรัม
  8. เนยเค็ม 80 กรัม
  9. นมข้นจืด 1/2 ถ้วย

วิธีทำ

  1. ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู เบกกิ้งโซดา และเกลือป่น ร่อนรวมกัน แล้ววางพักไว้
  2. ตอกไข่ใส่ชามผสม ตามด้วยน้ำตาลทราย ตีจนน้ำตาลละลาย ใส่เนยเค็มละลาย และนมข้นจืด ตีให้เข้ากัน
  3. ทยอยใส่แป้งที่ร่อนไว้แล้วลงไป แล้วค่อย ๆ ตีจนแป้งหมด เมื่อตัวขนมเริ่มเป็นสีขาวเนียนขึ้นฟู ก็เทกล้วยบดลงไป ใช้พายตะล่อมให้กล้วยบดกับแป้งเข้ากันดี
  4. ตั้งหม้อสำหรับนึ่ง ต้มให้เดือด ระหว่างรอก็เตรียมแม่พิมพ์สำหรับใส่ขนม
  5. หยอดขนมใส่ลงไปในแม่พิมพ์ ใส่ไม่ต้องเต็มพิมพ์ เหลือพื้นที่เผื่อไว้ตอนขึ้นฟู
  6. นำขนมไปนึ่ง ใช้เวลา 15 นาที หากเป็นพิมพ์เล็ก ใช้เวลา 12 นาที หรือสังเกตสีขนม หากเป็นสีน้ำตาลก็ถือว่าสุกแล้ว พร้อมนำมารับประทานได้

กล้วยฉาบ

วัตถุดิบ

  1. กล้วยน้ำว้าห่าม 1 หวี
  2. น้ำตาลทราย 500 กรัม
  3. เกลือ 1 ช้อนชา
  4. น้ำมันสำหรับทอด
  5. มะนาว 2 ลูก
  6. น้ำเปล่า 1/4 ถ้วยตวง

วิธีทำ

  1. นำกล้วยน้ำว้าห่ามมาปอกเปลือก แล้วแช่ในน้ำผสมน้ำมะนาว เพื่อป้องกันไม่ให้กล้วยดำ
  2. ตั้งน้ำมันให้ร้อน เอากล้วยที่ปอกไว้มาฝานลงไปทอด คอยคนอย่าให้กล้วยติดกัน ทอดจนสุกเหลือง แล้วตักขึ้นพักไว้
  3. ตั้งหม้อไฟกลาง ใส่น้ำตาลทราย เกลือ และน้ำเปล่า เคี่ยวให้ละลายเป็นผลึกเล็กน้อย แล้วนำไปราดลงกล้วยที่ทอดไว้ คลุกให้เข้ากัน พักไว้จนน้ำตาลบนกล้วยฉาบแห้ง ก็สามารถนำมาทานได้เลย
กล้วย
กล้วย

ขนมกล้วย

วัตถุดิบ

  1. กล้วยน้ำว้า บดละเอียด 10 ลูก
  2. แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย
  3. แป้งมัน 1/4 ถ้วย
  4. น้ำตาล 1 1/4 ถ้วย
  5. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
  6. หัวกะทิ 1/2 ถ้วย
  7. เนื้อมะพร้าวขูด 2 ถ้วย

วิธีทำ

  1. นำส่วนผสมทุกอย่างใส่ลงไปในชามผสม เหลือเนื้อมะพร้าวไว้ 1/4 เอาไว้โรยหน้าในตอนท้าย ต่อมานวดส่วนผสมทั้งหมดด้วยมือจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว
  2. ตักส่วนผสมลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้ แต่แนะนำให้ใช้กระทงใบตองดีกว่า เพื่อเพิ่มความหอม เมื่อใส่เสร็จนำมะพร้าวขูดที่เหลือโรยบนหน้าขนม
  3. นำภาชนะที่ใส่ขนมเรียบร้อยแล้วไปนึ่ง 30 นาที หรือนำไปอบก็ได้เช่นกัน ใช้ความร้อนประมาณ 180 องศา ใช้เวลา 30 นาที
  4. เสร็จแล้วยกลงจากหม้อนึ่ง แล้วนำมาจัดจานพร้อมเสิร์ฟ ขนมกล้วย ได้เลย

ข้าวต้มมัด

วัตถุดิบ

  1. กล้วยน้ำว้า 1 หวี
  2. ข้าวเหนียวเขี้ยวงูแช่น้ำ 1 ถ้วย
  3. ถั่วดำต้มสุก 1/4 ถ้วย
  4. กะทิ 650 มิลลิลิตร
  5. น้ำตาลทราย 150 กรัม
  6. เกลือสมุทร 1 ช้อนชา
  7. ใบเตย 2 ใบ

อุปกรณ์

  1. ใบตองชั้นใน ขนาด 6×8 นิ้ว
  2. ใบตองชั้นนอก ขนาด 8×9 นิ้ว
  3. ตอก แช่น้ำให้นิ่มประมาณ 2-3 ชั่วโมง (หรือเชือก สำหรับห่ออาหาร)

วิธีทำ

  1. แช่ถั่วดำทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วนำมานึ่งให้พอสุก
  2. ล้างข้าวเหนียวให้สะอาดแล้วนำไปแช่น้ำ ทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง เสร็จแล้วตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำพักไว้
  3. ตั้งกะทิในกระทะ ใส่ใบเตยลงไปเปิดไฟแรงปานกลาง เมื่อกะทิเริ่มเดือด ตักใบเตยออกแล้วใส่เกลือกับน้ำตาลลงไป
  4. ลดไฟลงใส่ข้าวเหนียวลงไปผัดกับกะทิ ผัดไปในทิศทางเดียวกัน ผัดจนข้าวเหนียวแห้ง ใช้เวลาประมาณ 15 นาที พอข้าวเหนียวเริ่มแห้งก็ปิดไฟ พักข้าวเหนียวไว้ให้เย็น
  5. นำกล้วยมาปอกผ่าครึ่งเตรียมไว้ วางใบตองประกบด้านสีอ่อนของใบตองเข้าหากัน ใบใหญ่ไว้ข้างนอกใบเล็กไว้ข้างใน
  6. ใส่ข้าวเหนียวลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้ช้อนเกลี่ยข้าวเหนียวให้แบน จากนั้นก็วางกล้วยลงไปตรงกลาง ปิดด้วยข้าวเหนียวอีกที แล้วโรยหน้าด้วยถั่วดำ
  7. ห่อใบตองให้แน่นแล้วมัดด้วยตอกหรือเชือก นำข้าวต้มไปเรียงใส่ลังนึ่ง นึ่งด้วยไฟแรงใช้เวลา 20 นาที เมื่อเสร็จแล้วก็ปิดไฟยกลงจากลังนึ่งจัดใส่จานเสิร์ฟได้เลย
กล้วย

ติดตามข่าวสารได้ที่  https://seasonsfruits.com
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ :